2018-03-21 11:42:27 ใน Article บทความ » 0 11908
ภาพ และข้อมูล : www.depa.or.th , #Thairobotic Club
เป็นประจำของทุกช่วงปลายปีจะมีบริษัท หรือสื่อต่างๆ จากหลายๆ สื่อ จะออกมาสำรวจ หรือจัดอันดับเทรนด์เทคโนโลยีในปี 2018 (Technology Trends 2018)
ที่จะเข้ามารองรับสังคม ธุรกิจ หรือเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นผลของการสำรวจ PwC Global (PricewaterhouseCoopers) หนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชี
ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนยังให้บริการที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษาภาษีอากร การจัดหาทรัพยากรบุคคล การให้บริการด้านเทคโนโลยี และอสังหาริมทรัพย์
ได้เผยผลการสำรวจ TBM : Tech Breakthroughs Megatrend ซึ่งได้ทำการสำรวจรูปแบบเทคโนโลยีกว่า 150 แบบทั่วโลก เพื่อค้นหาว่าเทคโนโลยีใด
จะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรมมากที่สุด โดยประเมินจากผลกระทบต่อธุรกิจและศักยภาพในเชิงพาณิชย์ในอีก 5-7 ปีข้างหน้า
สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ 3-5 ปี สำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยผลจากการสำรวจพบว่า เทรนด์การใช้นวัตกรรมดิจิทัลจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน
และการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนพลิกโฉมอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจส่งผลให้การจ้างงานมนุษย์ลดลง มีเทคโนโลยีสำคัญ 8 ประเภท (Essential Eight)
ที่ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องจับตา ได้แก่
1. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligenceหรือ AI)
AI หมายถึง ความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมเป็นหลัก แต่ยังรวมถึงศาสตร์ในด้านอื่นๆ
อย่างจิตวิทยา ปรัชญา หรือชีววิทยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ที่มีความฉลาด สามารถเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ หรือมีศักยภาพในการทำงานคล้ายหรือเทียบเท่ากับมนุษย์
ทั้งนี้ คำนิยามของ AI ตามความสามารถที่มนุษย์ต้องการแบ่งได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
- การกระทำคล้ายมนุษย์ (Acting Humanly)
- การคิดคล้ายมนุษย์ (Thinking Humanly)
- การคิดอย่างมีเหตุผล (Thinking Rationally)
- การกระทำอย่างมีเหตุผล (Acting Rationally)
AI เรียกง่ายๆ ก็คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง มีความเข้าใจ สามารถวางแผน คิด และวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ด้วยเหตุและผล จนสามารถตอบโต้
การสนทนาได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนั้นยังสามารถจดจำสิ่งที่ผ่านมาเป็นบทเรียนได้อย่างลึกซึ้ง ตลอดจนมีความสามารถด้านคิดสร้างสรรค์ และสามารถปรับเปลี่ยนตัวเอง
ให้สอดคล้องกับข้อมูลใหม่ๆ ได้
นับวันขีดความสามารถเทคโนโลยีเหล่านี้ มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการพัฒนาถูกแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ เพราะการนำไปใช้งานของแต่ละองค์กรนั้นแตกต่างกัน
แน่นอนว่าการบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงบางส่วนของเทคโนโลยี AI เท่านั้น แต่ในอนาคต ความก้าวหน้าและผลสำเร็จของ AI จะช่วยให้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่
ของโลกอินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรืออาจจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจดีๆ ได้
2. ความเป็นจริงเสริม หรือโลกกึ่งเสมือนจริง (Augmented Reality หรือ AR)
AR เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างความเป็นจริง (Real world) เข้ากับโลกเสมือนที่สร้างขึ้น (Virtual world) โดยใช้วิธีซ้อนภาพ เสียง วิดีโอ ในโลกเสมือน
บนภาพที่เห็นในโลกความเป็นจริงผ่านซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น แว่นตา AR ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ทำงานคลังสินค้าสามารถจัดระเบียบสินค้า
ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หรือช่วยผู้ผลิตในการประกอบเครื่องบิน และช่วยในงานซ่อมแซมไฟฟ้า รวมไปถึง การออกกำลังกายในลู่วิ่ง เมื่อสวมแว่น VR เข้าไปจะทำให้
การวิ่งนั้นมองเห็นวิวทิวทัศน์ในสถานที่ที่เราต้องการได้อย่างเป็นธรรมชาติ ปัจจุบันยังมีการนำ AR มาใช้พัฒนาในรูปแบบต่างๆ อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น
ทั้งด้านความบันเทิง เกมส์ และกิจกรรมต่าง ๆ
ข้อมูลจาก บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) ระบุว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
ของรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยข้อมูลจาก Digi-Capital คาดว่ามูลค่าการลงทุนในตลาด
เออาร์ทั่วโลกจะสูงถึง 90,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2563 โดยเอเชียจะเป็นผู้นำรายได้ในตลาดนี้ ตามด้วย ยุโรป และอเมริกาเหนือ สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของ
การนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในอนาคต ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือโทรศัพท์มือถือ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างตอบโจทย์ต่อไป
3. บล็อกเชน (Blockchain)
บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีการร้อยต่อข้อมูลเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด เป็นฐานข้อมูลที่มีการจัดการชุดข้อมูลที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการตรวจสอบความถูกต้อง
และความปลอดภัยซึ่งกันและกันตลอดชุดของข้อมูล โดยการทำงานของ บล็อกเชน เป็นรูปแบบการเก็บข้อมูล (Data structure) แบบหนึ่ง ที่ทำให้ข้อมูล
Digital transaction ของแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังทุกๆ คนได้ เป็นเสมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ทำให้ Block ของข้อมูลลิ้งก์ต่อไปยังทุกคน โดยที่ทราบว่า
ใครที่เป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลนั้นจริงๆ เมื่อบล็อกของข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน มันจะเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดการแก้ไข
หรือเพิ่มข้อมูล ทุกๆ คนในเครือข่ายซึ่งล้วนแต่มีสำเนาของบล็อกเชน จะทำให้ทุกบล็อกรับรู้การแก้ไขนั้นๆ และสามารถรัน Algorithm เพื่อตรวจสอบ Transaction
โดย Transaction ใหม่นี้จะได้รับอนุญาต ต่อเมื่อในเครือข่ายส่วนใหญ่เห็นด้วยว่ามันถูกต้อง โดยเนื้อแท้ของเทคโนโลยีจึงมีความปลอดภัยจากโครงสร้างที่เกิดขึ้น
ความสามารถของ บล็อกเชน เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อถูกนำมาใช้งานในรูปของ Bitcoin หรือเงินเสมือนจริงที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ด้วยรูปแบบการบันทึกทุกกล่อง
เป็นสำเนาข้อมูลเหมือนกันหมด ทำให้มีความปลอดภัยมากกว่าการบันทึกด้วยมนุษย์หรือเครื่องมือบันทึกใดๆ ที่มีอยู่เดิม และนั่นก็ทำให้ ระบบบล็อกเชน ได้รับความสนใจ
และมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวงการเทคโนโลยี และกลุ่มธุรกิจการเงิน เช่น ธนาคาร เป็นอย่างมาก โดยเชื่อว่า บล็อกเชน จะเป็นนวัตกรรมทางการเงิน
ที่มีความปลอดภัยและรวดเร็วมากกว่าเทคโนโลยีการเงินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาในระดับโลก เมื่อมองภาพรวมแล้ว
เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีที่ต้องจับตามองชนิดไม่ให้คลาดสายตาเลยทีเดียว โดยเฉพาะในวงการธนาคารไทยที่ต้องปรับตัวตามให้ทันกับกระแสโลก
4. โดรน (Drones)
โดรน เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการบินที่ได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถของการบินหลายระยะด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้โดรนเข้ามาแทนที่ในการบินหลากหลายระบบ
ทั้งเล็กและใหญ่ เช่น อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) โดยใช้เทคโนโลยีบังคับเครื่องบินแทนมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบัน โดรน ถูกพัฒนา
ให้ใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการบินสำรวจพื้นที่การเกษตร หรือพื้นที่ที่ต้องการการตรวจสอบและดูแล
นอกจากนี้มีการใช้โดรนเข้ามาช่วยในการทำงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางการทหาร ด้านความปลอดภัยและความมั่นคง การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การถ่ายภาพเคลื่อนไหว
ถ่ายทอดสดต่างๆ การถ่ายภาพมุมสูง การสำรวจ การเฝ้าระวัง รวมทั้งการขนส่ง เช่น จากเดิมที่ใช้เครื่องบินใส่ปุ๋ยและยาพืชไร่ ก็สามารถเปลี่ยนเป็นเครื่องโดรนที่บรรทุกปุ๋ย
และยาบินเข้าพื้นที่แบบอัตโนมัติตามการวางโปรแกรมการบินเพื่อจัดการพื้นที่ได้อย่างไม่หลงลืม ทำให้โดรนกลายเป็นเครื่องมือขนส่งที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง
ทางอากาศระยะไกลได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนส่งคนหรือสิ่งของก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น โดรนยังมีความสามารถในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ภาพหรือข้อมูลนั้นๆ
เช่น วิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental impacts) ในบริเวณนั้นๆ และยังวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เป็นต้น
ด้วยประโยชน์ของโดรนที่มีมากมายมหาศาลนี่เอง ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกนำโดรนมาใช้งานในรูปแบบต่างๆ
นอกจากนี้ ผลสำรวจของ PwC’s Clarity from above ยังคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของโดรนทั่วโลกในอีก 3 ปีข้างหน้าจะสูงถึงกว่า 127,000 ล้านดอลลาร์
หรือกว่า 4.4 ล้านล้านบาท นำโดยอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จะมีมูลค่าโดรนสูงถึง 45,200 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ การเกษตร
(Agriculture) มูลค่า 32,400 ล้านดอลลาร์ และอันดับที่สามคือ การคมนาคมขนส่ง (Transport) มีมูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์
5. อินเตอร์เน็ตเพื่อทุกสิ่ง (Internet of Things หรือ loT)
loT คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ หรือการที่สิ่งต่างๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันหรือสื่อสารระหว่างกันผ่านเซนเซอร์ ซอฟต์แวร์
หรือระบบเชื่อมต่อเครือข่าย เพื่อให้สามารถจัดเก็บ รวบรวม แม้กระทั่งแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยไม่ต้องผ่านมนุษย์ หรือทำให้มนุษย์สามารถสั่งการและควบคุม
การใช้งานอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือยานพาหนะต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ เช่น การสั่งเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้สำนักงาน
เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือน รวมไปถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ
ทั้งนี้ เทคโนโลยี IoT เป็นสิ่งที่หลายคนพูดถึงกันมากที่สุด เพราะสามารถแทรกตัวเข้าไปได้แทบทุกอุตสาหกรรม ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต (The Industrial
IoT: IIoT) ยังถือว่า IoT เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้งานกับหน่วยการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ประหยัดต้นทุน และควบคุมความปลอดภัย
โดยคาดหวังกันว่า IoT จะช่วยลดเวลาการจัดการทั้งหมดของมนุษย์ รวมไปถึงการดูแลความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้มีความปลอดภัย สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ IoT ยังเป็นอุปกรณ์ที่จะเก็บข้อมูล รายงานสิ่งที่จำเป็นให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการตรวจสอบในระบบสินค้าคงคลังได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. หุ่นยนต์ (Robots)
หุ่นยนต์เป็นเป้าหมายใหม่ของการทดแทนแรงงานในอนาคต เพื่อเข้ามาช่วยการทำงานของมนุษย์ เนื่องจากงานบางชนิดเป็นการใช้แรงงานที่ต้องทำงานซ้ำๆ
อย่างเช่น งานในโรงงาน ทั้งการยกของจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง หรือทำงานซ้ำแบบเดิมตามไลน์การผลิต จนเกิดปัญหาสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน หรือแม้กระทั่ง
เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน และนอกจากอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว หุ่นยนต์ยังสามารถเข้าไปแทนที่การทำงานในแง่มุมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ่นยนต์ดับเพลิง
กู้ภัย หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ให้บริการ ทำให้ในอนาคต หุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์มากขึ้น
ปัจจุบันหุ่นยนต์ถูกนำมาใช้ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากมีโปรแกรมการทำงานที่หลากหลาย ทั้งยังมีความสามารถในเรียนรู้ มีความจำและทำตามระบบ
หรือคำสั่งที่วางเอาไว้ได้ นอกจากนี้ยังสามารถเคลื่อนไหวได้คล้ายกับมนุษย์อีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้การจ้างงานมนุษย์ในอนาคตอาจลดลง
7. โลกเสมือนจริง (VR : Virtual Reality)
VR เป็นเทคโนโลยีการจำลองภาพสามมิติ หรือสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ได้ยินเสียงรอบทิศทาง
ภายในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งหากมองแบบผิวเผิน อาจจะดูใกล้เคียงกับ AR แต่จริงๆ แล้วมีความต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะวิธีการใช้หรือรูปแบบที่นำไปใช้ นั่นเพราะ AR
ที่เป็นเทคโนโลยีซ้อนภาพที่เห็นในจอให้กลายเป็นวัตถุ 3 มิติอยู่บนพื้นผิวจริง แต่ VR เป็นสิ่งที่อยู่ในโลกเสมือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ร่างกายเพียงตอบสนอง
กับสิ่งที่เห็นเพื่อฝึกฝนหรือเพื่อความบันเทิง โดยที่ไม่มีการซ้อนกันของโลกความเป็นจริงแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น การทำเครื่อง VR เพื่อฝึกบินเครื่องบินตามรุ่นต่างๆ
ช่วยลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการฝึกบินบางส่วน หรือการฝึกผ่าตัดของแพทย์เพื่อความเชี่ยวชาญ แน่นอนว่าเครื่องเหล่านี้สร้างระบบครอบการรับรู้ของมนุษย์ทั้งหมดไว้
เพื่อสร้างโลกเสมือนที่อาจจะใกล้เคียงหรือไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็นอยู่ก็เป็นได้
8. เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D Printing)
3D Printing เป็นเทคนิคการสร้างชิ้นงานด้วยการเติมวัสดุเพื่อสร้างภาพดิจิทัล 3 มิติ โดยการพิมพ์วัสดุทีละชั้นอย่างต่อเนื่อง เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer)
สามารถสร้างชิ้นงานได้ด้วยวัสดุหลากหลายแบบ ทั้งพลาสติก ยาง โลหะ ไนล่อน อัลลอย ฯลฯ แบ่งได้เป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับวิธีการขึ้นรูปชิ้นงาน และวัสดุที่
สามารถพิมพ์ได้ ถึงแม้เครื่องพิมพ์แต่ละแบบจะมีความแตกต่างกันแต่หลักการพื้นฐานยังเหมือนเดิม คือ “ขึ้นรูปชิ้นงานโดยการเติมเนื้อวัสดุทีละชั้น” ฟีเจอร์การทำงาน
ก็เป็นแบบดิจิทัลที่สั่งงานโดยคอมพิวเตอร์ ค่อยๆ ขึ้นรูปวัสดุตามที่ต้องการไปทีละขั้นทีละตอน และนั่นก็ทำให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นที่หมายปองของนักออกแบบ
เพราะเพียงเวลาไม่นาน แบบที่ร่างไว้ในคอมพิวเตอร์ก็จะถูกพรินต์ออกมาเป็นโมเดล 3 มิติ ที่จับต้องได้ ด้วยจุดเด่นของการทำงานที่ไม่จำกัดจำนวน และรวดเร็ว
ทำให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถตอบโจทย์ให้กับแวดวงต่างๆ และเข้าไปอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางการศึกษา (Education) อุตสาหกรรม
การออกแบบ (Industrial Design) อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) งานด้านวิศวกรรม (Engineering) งานด้านสถาปัตยกรรม (Architecture)
การแพทย์ และทันตกรรม (Medical & Dental) การออกแบบแฟชั่นและเครื่องประดับ (Fashion & Jewellery) การบินและอวกาศ (Aerospace) อาหาร (Food)
และอื่นๆ อีกมากมาย
ปัจจุบันเทคโนโลยี 3D Printing เข้ามามีบทบาทในการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เก่า ซึ่งสามารถทำงานต้นแบบที่มีคุณภาพได้ใกล้เคียง
หรือเทียบเท่ากับของจริงด้วยวัสดุที่หลากหลาย และกำลังก้าวไปสู่การผลิตจำนวนมาก ทั้งนี้จะช่วยให้เห็นชิ้นงานออกแบบก่อนการผลิตจริง เพื่อตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไข
แบบให้สมบูรณ์ก่อนส่งต่อไปยังกระบวนการผลิตในลำดับถัดไป ในด้านการผลิตยังช่วยให้เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และทำให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด
ได้เร็วขึ้น เพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการ ทั้งยังมีคุณภาพภายใต้ต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมากนัก จึงทำให้การใช้เทคโนโลยี 3D Printing เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น
ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
มาต่อกันในส่วนของผลวิจัยจากอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับความสนใจเสมอ Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชื่อดังด้านไอที ที่ได้สรุปถึง Top 10 Strategic
Technology Trends for 2018 หรือ 10 แนวโน้มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ไว้เช่นกัน โดยระบุว่า เทรนด์เทคโนโลยีในปีหน้าที่มาแรงน่าจับตามองในปี 2018
จะขึ้นอยู่กับ 3 ส่วนหลักๆ ดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1. Intelligent ความฉลาดเฉลียวทั้งหลาย เช่น
- AI Foundation
- Intelligent Apps and Analytics
- Intelligent Things
ส่วนที่ 2. Digital เช่น
- Digital Twins
- Cloud to the Edge
- Conversational Platforms
- Immersive Experience จำพวก AR และ VR
ส่วนที่ 3. Mesh เป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันเป็นโครงใย เช่น
- Blockchain
- Event-Driven
- Continuous Adaptive Risk and Trust (CARTA)
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทั้งหมดนี้คือ 10 เทรนด์ที่ Gartner คิดว่าจะมีบทบาทสำคัญเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจของปี 2018 ซึ่งจะส่งผลต่อระบบ และวิถีชีวิต
ของพวกเราเป็นวงกว้าง
มาดูผลวิจัยจากอีกสถาบันหนึ่ง เพื่อยืนยันเทรนด์เทคโนโลยีในปี 2018 ว่ามีผลออกมาเป็นอย่างไรนั้น ได้แก่ ผลการศึกษาเบื้องต้น
โดย WEF : World Economic Forum ก็พบเห็นคล้ายกันว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งรวมไทยด้วยจะได้รับผลกระทบจาก 5 ความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ได้แก่
- IoT (Internet of Things) อินเตอร์เน็ตเพื่อทุกสิ่ง
- AI (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์
- Advanced Robotics (หุ่นยนต์อุตสาหกรรม)
- Wearables (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ติดตัว)
- Additive Manufacturing เช่น 3D Printing (การพิมพ์ 3 มิติ)
จะเห็นได้ว่า เทรนด์เทคโนโลยีในปี 2018 หลักๆ แล้วจากทั้ง 3 สถาบันที่มีชื่อเสียง และน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็น PwC Global, Gartner, WEF: World Economic
Forum ได้ทำการวิจัยออกมาเป็นไปในทิศทางคล้ายๆ กัน จะมีแตกต่างกันก็แค่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเทรนด์การใช้นวัตกรรมดิจิทัล “IoT : Internet of Things” จะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน สังคม และการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการจ้างงานมนุษย์ลดลง เรายังพบว่าเป็นเรื่องท้าทาย
สำหรับบางองค์กรที่ต้องโฟกัสการดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไรและเติบโต ในขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จึงอยากแนะผู้บริหาร และผู้ประกอบการ ต้องเร่งปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลง ทำความเข้าใจตลาด ตามเทคโนโลยีให้ทัน และนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์
เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้ไม่มีสูตรสำเร็จว่าองค์กรควรปรับตัวอย่างไร มีเพียงสิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ ทุกองค์กรต้องเริ่มปรับตัวได้แล้ว
แต่หากท่านผู้อ่านสนใจในเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์โซลูชั่นเพื่องานออกแบบ 3D ทางอุตสาหกรรม และนวัตกรรมที่ทันสมัยอย่าง 3D Printer เพื่อนำไปประยุกต์ใช้
กับธุรกิจของท่าน สามารถเข้ามาหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือปรึกษาได้ที่ www.applicadthai.com/solidworks/ และ https://www.applicadthai.com/3d-printers/
ขอบคุณข้อมูลและภาพ : www.gartner.com , www.pwc.com , www.thansettakij.com , www.depa.or.th , #Thairobotic Club
BY: Wilaiphan S.